thai art

ศิลปะไทยครั้งรัชกาลที่ 1 : รุ่งอรุณของศิลปะ

            เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าครั้งที่ 2 ใน ปีพ.ศ. 2310 นั้น ถือว่าเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดของบ้านเมืองไทยเรา บ้านเมือง ปราสาท พระราชวัง วัดวาอาราม ศิลปกรรมต่างๆ ถูกทำลายลงอย่างย่อยยับ ถึงแม้ว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรือ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจะทรงรวบรวมผู้คนสร้างกรุงธนบุรีขึ้นใหม่ แต่ตลอดรัชกาลของพระองค์ประมาณ 15 ปีนั้น กลับเต็มไปด้วยศึกสงคราม แทบไม่มีโอกาสที่จะได้ทำนุบำรุงวัดวาอารามและสร้างศิลปกรรมขึ้นใหม่เลย ประกอบกับบ้านเมืองยังอยู่ในระยะฟื้นตัว ขาดกำลังคน ขาดกำลังทรัพย์ และขาดช่างซึ่งกระจัดกระจายไปเมื่อกรุงศรีอยุธยาแตก

          จนเวลาล่วงเลยมาถึงสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสร้างกรุงรัตนโกสินทร์หรือกรุงเทพ ขึ้นในปี พ.ศ. 2325 โปรดให้ระดมสรรพฝีมือกำลังช่างมือดีมาช่วยกันสร้างพระบรมมหาราชวัง เพื่อให้พระนครหลวงแห่งใหม่เป็นตัวแทนของกรุงศรีอยุธยาที่ได้ล่มสลายลงไปแล้ว ได้ฟื้นคืนกลับขึ้นมาใหม่อีกครั้งหนึ่ง เหมือนเมื่อ “ครั้งบ้านเมืองดี” ในสมัยอยุธยา

          พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช หรือ รัชกาลที่ 1 โปรดให้รวบรวมนักปราชญ์ ราชบัณฑิต ผู้มีความเชี่ยวชาญชำนาญด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านการช่างสาขาต่างๆ ให้มาร่วมกันสร้างพระบรมมหาราชวัง ปราสาท ราชมณเฑียร และวัดวาอารามขึ้นใหม่ กล่าวกันว่า ช่างที่โปรดให้สร้างสิ่งก่อสร้างต่างๆ ในพระบรมมหาราชวังนั้นต้องมีฝีมือทัดเทียมกับช่างในครั้งกรุงศรีอยุธยาตอนปลายเลยทีเดียว หรืออาจจะถึงขั้น ช่างบางประเภทบางกลุ่มอาจจะมีฝีมือสูงกว่าช่างโบราณครั้งอยุธยาด้วยซ้ำไป

          ดังนั้น งานศิลปกรรมที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 จึงเป็นศิลปกรรมที่ควรค่าแก่การชมและรักษา ศึกษา หาความรู้อย่างยิ่ง เนื่องด้วยคุณค่าดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น ศิลปกรรมครั้งรัชกาลที่ 1 เหล่านี้เป็นเสมือนการฟื้นตัวหรือเป็นการเกิดใหม่ของศิลปกรรมไทยสมัยอยุธยาที่ถูกทำลายไปจนแทบไม่มีหลักฐานให้ได้ศึกษาแล้ว

          ด้วยระยะเวลาที่ผ่านมาอย่างยาวนานทางประวัติศาสตร์ส่งผลให้ในปัจจุบัน ตัวอย่างงานศิลปกรรมที่สำคัญในครั้งรัชกาลที่ 1 ยังหลงเหลืออยู่น้อยเต็มที่ ที่หลงเหลืออยู่ส่วนมากก็มักจะโดนซ่อมแซมไปเสียส่วนมาก ตัวอย่างที่สำคัญๆ ได้แก่ หมู่พระที่นั่งต่างๆในพระบรมมหาราชวัง งานศิลปกรรมในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดระฆังโฆสิตาราม รวมไปถึง งานศิลปกรรมในพระที่นั่งในพระราชวังบวรสถานมงคล เป็นต้น ดังนั้น ในบทความต่อไป เราลองมาดูร่องรอยที่หลงเหลือของงานศิลปกรรมในครั้งรัชกาลที่ 1 กันบ้าง ว่าจะมีความงาม รูปลักษณ์แบบใด เพื่อจะเป็นทางเลือกในการไปตามร่องรอยศิลปะเหล่านี้กัน